ข่าวสารและบทความ

พิธีมอบปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ดร.ซาฮี

พิธีมอบปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ดร.ซาฮี

Update : 19 มกราคม 2560
 

16 มิถุนายน ที่ผ่านมา คณะจากมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา นำโดย รศ.ดร.สุพล วุฒิเสน อธิการบดี และคณะกรรมการสภามหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา (มบส.) ได้เดินทางไปยังประเทศอียิปต์ เพื่อลงนามความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย ซิกซ์ออโทเบอร์ ของอียิปต์ ในการแลกเปลี่ยนอาจารย์และนักเรียนระหว่างกัน 

การเรียนการสอนภาษาอารบิก และการแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรม เพราะเป็นมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ที่มีความโดดเด่นอย่างยิ่งของประเทศอียิปต์ ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามและใช้ภาษาอาหรับในการสื่อสาร มีความเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะแลกเปลี่ยนอาจารย์และนักศึกษา กิจกรรมทางวัฒนธรรม ตลอดจนข้อมูลงานวิจัย และอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านภาษาอาหรับและภาษาไทย

รวมถึงการเปิดสอนสาขาวิชาอิสลามศึกษาเพื่อการพัฒนาธุรกิจ ที่มหาวิทยาลัยกำลังดำเนินการอยู่ด้วย เชื่อว่าจะมีส่วนช่วยในการแก้ไขปัญหาของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ ในโอกาสนี้ได้เยี่ยมชมอาคารเรียน ห้องสมุด โรงพยาบาล และโรงเรียนการโรงแรม ความร่วมมือในครั้งนี้ เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงไคโร ฯพณฯ นภดล เทพพิทักษ์ และอดีต ส.ว.ดำรง พุฒตาล ซึ่งเป็นศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัย และเป็นผู้ทรงคุณวุฒิประจำสภามหาวิทยาลัย ประสานงานและอำนวยความสะดวกในทุกด้าน

ในช่วงเย็นวันเดียวกัน ยังได้มีพิธีมอบปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาการจัดการนวัตกรรมและเทคโนโลยี แก่ ดร.ซาฮี ฮาวาส ที่ มานิเอล พาเลซ ยกย่อง ดร.ซาฮี ฮาวาส ในเรื่องความสามารถด้านโบราณคดี โดยเฉพาะการบูรณะรักษาโบราณสถานที่สำคัญของโลกไว้ให้คนรุ่นหลังได้มีโอกาสศึกษาต่อไป ปัจจุบัน ดร.ซาฮี ฮาวาส ดำรงตำแหน่งเลขานุการสภาสูงสุดแห่งโบราณวัตถุและผู้อำนวยการขุดหาโบราณวัตถุแห่งกิซ่า ซัคคารา และบาฮาริยา เคยมีโอกาสได้นำเสด็จ และถวายคำบรรยายแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จนเป็นที่พอพระราชหฤทัยยิ่ง ซึ่ง ดร.ซาฮี ฮาวาส เองก็ประทับใจและชื่นชมในพระองค์เป็นที่สุดเช่นเดียวกัน 

รศ.ดร.สุพล วุฒิเสน อธิการบดีมบส. กล่าวว่า ดร.ซาฮี ฮาวาส เป็นผู้มีบุคลิกภาพและความรู้ความสามารถที่โดดเด่น ได้จุดประกายให้โลกหันมาสนใจอารยธรรมอียิปต์โบราณ มุ่งมั่นทุ่มเทในการศึกษาค้นคว้า และเผยแพร่ความรู้แก่สาธารณชน ทั้งในรูปแบบของรายการวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือ หนังสือพิมพ์ เว็บไซต์ ตลอดจนสื่ออิเล็กทรอนิกทุกประเภท โดยการพัฒนานวัตกรรมและบริหารจัดการเทคโนโลยี จนได้รับรางวัลเกียรติยศต่างๆ มากมาย

มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ก็มีนโยบายในด้านอนุรักษ์การศึกษาประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรม จนได้จัดตั้งศูนย์กรุงธนบุรีศึกษาขึ้นในมหาวิทยาลัย จึงรู้สึกชื่นชม ยกย่อง และศรัทธาในตัว ดร.ซาฮี ฮาวาส เป็นอย่างยิ่ง สภามหาวิทยาลัย จึงมอบปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ให้ อีกทั้ง สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ผู้สำเร็จราชการในสมัยรัชกาลที่ 5 และเป็นเจ้าของที่ดินอันเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยานั้น มีบรรพบุรุษนามว่า ?เฉก อะหมัด? เป็นชาวเปอร์เซีย ได้เข้ามารับราชการในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวทรงธรรม สมัยกรุงศรีอยุธยา นับถือศาสนาอิสลาม ใช้ภาษาอาหรับ (อารบิก) มาก่อน

รวมทั้งชุมชนมุสลิมก็เป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียงกับมหาวิทยาลัย นิสิตนักศึกษาของมหาวิทยาลัยส่วนหนึ่งก็นับถือศาสนาอิสลาม ทั้งนี้ความร่วมมือดังกล่าวจะนำไปสู่การให้บริการทางการศึกษาของมหาวิทยาลัย ซึ่งมีปรัชญาประการหนึ่งในการนำท้องถิ่นสู่สากล ได้ทำข้อตกลงทางวิชาการกับนานาประเทศมาแล้วในหลายภูมิภาค ทั้งในทวีปเอเชีย ออสเตรเลีย ยุโรป และอเมริกา ความร่วมมือครั้งนี้จะทำให้มหาวิทยาลัยสามารถให้บริการชุมชนได้มากขึ้นอีกทางหนึ่ง

**ที่มาหนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก **
**ภาพประกอบจากหนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ **

 

แสดงความคิดเห็น